มะนาวพันธุ์ กวก. พิจิตร 2

กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาสายพันธุ์ มะนาวพันธุ์ชื่อ กวก. พิจิตร 2 เป็นมะนาวที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ที่ต่อยอดจากมะนาวพิจิตร 1 ที่โดงดังเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเด่นเรื่องทนโรค ติดผลง่าย แต่จะมีเปลือกที่หนา เมล็ดที่มีจำนวนมาก แต่สำหรับพันธุ์ กวก.พิจิตร2 นี้ จะความคงเดิมคือทนต่อโรค แต่มีเมล็ดน้อย เปลือกบาง การเจริญเติบโตดี ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับบริโภคและปลูกเป็นการค้า ตอบโจทย์เกษตรกร ที่เคยชื่นชอบมะนาวพันธุ์พิจิตร1 ในอดีต

ที่มาของการพัฒนา มะนาวพันธุ์ กวก. พิจิตร 2 นั้นภายหลังจากที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ มะนาวพิจิตร 1 ให้มีความทนทานต่อโรคแคงเกอร์ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว เนื่องจากเชื้อสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของมะนาว ทำให้ต้นทรุดโทรม ใบร่วง ผลผลิตลดลง และไม่มีคุณภาพ ทำให้มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรทั่วประเทศดีมาก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี แม้จะสามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคแคงเกอร์ให้เกษตรกรได้แต่เนื่องจากมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ยังมีจำนวนเมล็ดต่อผลมากโดยเฉลี่ยถึง 29.4 เมล็ด ต่อ 1 ผล ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงได้ปรับปรุงมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยการฉายรังสีแบบแกมมา เพื่อให้มีเมล็ดที่น้อยลง เปลือกบางขึ้น การเจริญเติบโตดี ผลผลิตสูง เหมาะสมสำหรับการบริโภคและปลูกเป็นการค้าเพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ จากพิจิตร1 ไปยัง กวก.พิจิตร2 ได้มีการนำต้นมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 อายุ 3 เดือน หลังจากเสียบยอด ไปฉายรังสีแกมมาปริมาณรังสี 5 ระดับ จำนวนระดับละ 10 ต้น หลังฉายรังสีนำไปปลูกลงแปลง ปล่อยให้กิ่งด้านล่างเจริญเติบโตประมาณ 5 ตา ใช้วิธีตัดแต่งกิ่ง ทำการตัดยอดกิ่งรุ่น M1V0 ปล่อยให้แตกกิ่งเพื่อเจริญเป็นรุ่น M1V1 (กิ่ง M1V1 คือกิ่งที่แตกมาจากกิ่งที่ฉายรังสี) เมื่อกิ่ง M1V1 เจริญแตกตาใหม่ ประมาณ 5 ตา จึงได้ตัดกิ่งเพื่อให้แตกกิ่ง เป็นรุ่น M1V2 โดยตัดกิ่งจนถึงรุ่น M1V3 จากนั้นปล่อยให้กิ่งมีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ

เมื่อมะนาวให้ผลผลิตทำการติดป้ายชื่อ แถวที่ ต้นที่ กิ่งที่ และระดับรังสีซึ่งมีจำนวนกิ่งที่ให้ผลผลิตจำนวน 249 กิ่ง คัดเลือกเหลือ 121 กิ่ง เป็นสายต้น ทำการคัดเลือกซ้ำโดยคัดเลือกจากการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตแต่ละสายต้น ตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ จำนวนเมล็ดน้อยกว่า 15 เมล็ดต่อผล เปลือกบาง ให้ผลผลิตและคุณภาพดี จำนวน 24 สายต้น โดยดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร เมื่อปี 2557-2561 ปลูกและทำการเปรียบเทียบ กับมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ที่ผ่านการฉายรังสี 24 สายต้น มีพันธุ์พิจิตร 1 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ

ช่วงปี 2562-2564 ได้ปลูกทดสอบ 4 สถานที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และแปลงเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี พบว่ามะนาวสายต้นที่ชื่อ PCT1-07-01-4 ที่ระดับรังสี 108 เกรย์ การเจริญเติบโตดี เมล็ดน้อย เปลือกบาง กว่าพันธุ์พิจิตร 1 อย่างชัดเจน จึงเสนอขอรับรองพันธุ์มะนาวสายต้น PCT1-07-01-4 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้จากการฉายรังสีแกมมาแล้วคัดเลือกลักษณะเด่นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นพันธุ์แนะนำโดยใช้ชื่อว่า “มะนาวพันธุ์ กวก.พิจิตร 2” โดยผ่านการพิจารณารับรองพันธุ์ใน วันที่ 8 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566

มะนาวพันธุ์ กวก.พิจิตร 2 มีลักษณะเด่น เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 8 - 12 เดือน จำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ยเพียง 1.97 เมล็ด จนถึงไม่มีเมล็ด และมีน้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ที่มีจำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 24.7 เมล็ด ความหนาเปลือกเฉลี่ย 1.78 มิลลิเมตร น้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ความหนาเปลือกเฉลี่ย 2.36 มิลลิเมตร และให้ผลผลิตดกเมื่ออายุต้น 3 ปีขึ้นไปเฉลี่ย 1,050 กิโลกรัมต่อการปลูกไร่

แต่ปัจจุบันมีผู้แอบอ้างนำสายพันธุ์ มะนาวพันธุ์ กวก.พิจิตร2 ไปตั้งเป็นชื่อสายพันธุ์ของตัวเองหลายราย และจำหน่ายพันธุ์ให้แก่ผู้สนใจทั่วไป อาจจะเป็นด้วยมะนาวที่พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ขาดการประชาสัมพันธ์ ข่าวสาร ที่ต่อเนื่องจึงเป็นช่องว่างให้นักฉกฉวยโอกาส ที่เป็นเอกชน นำมาตั้งชื่อเพื่อสวมรอยเป็นสายพันธุ์ของตัวเองและทำการประชาสัมพันธ์ ที่ดีกว่า หน่วยงานราชการ

46 @สงวนสิขสิทธิ์โดย สวนมะนาวท้ายไร่ จังหวัดพิจิตร